เมื่อเข้าสู่ช่วงต้นปี สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่างมีหน้าที่ในการ ยื่นภาษี เงินได้ประจำปี ซึ่งแอดมินได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการยื่นภาษีทางเว็บไซต์สำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90/91) ในปี 2565 ที่ต้องยื่นต้นปี 2566 ผ่านระบบ E-Filing บนเว็บไซต์กรมสรรพากร เพื่อเป็นแนวทางในการยื่นภาษีสำหรับมือใหม่หัดยื่นภาษี ซึ่ง ณ วันที่เขียนนี้มีกำหนดการให้ยื่นภาษีแบบออนไลน์ได้ถึงวันที่ 10 เมษายน 2566 หรือสามารถติดตามข่าวสารหากมีการเปลี่ยนแปลงวันยื่นแบบภาษีได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร
หน้าหลักเว็บไซต์กรมสรรพากร: https://efiling.rd.go.th
ก่อนที่จะทำการ ยื่นภาษี นั้น ควรทำความรู้จักกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมี 2 แบบ
- แบบ ภ.ง.ด.90 คือ ผู้ที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ เช่น ค้าขายแบบบุคคลธรรมดา เงินปันผล หรืออื่น ๆ
- แบบ ภ.ง.ด.91 คือ ผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยไม่มีรายได้เสริมจากแหล่งงาน หรือรายได้อื่น เช่น พนักงานบริษัทที่รับเงินค่าจ้างเพียงอย่างเดียว
แอดมินขอแนะนำเพื่อให้สะดวกในการกรอกข้อมูล ขอให้เตรียมเอกสารสำคัญก่อนการยื่นภาษีออนไลน์ ดังนี้
- เอกสารหลักฐานแสดงรายได้ หนังสือรับรองเงินเดือน (50 ทวิ) จากนายจ้าง
- เอกสารที่ใช้ลดหย่อนตัวเองและลดหย่อนภาษีต่างๆ เช่น บิดามารดาอายุ 60 ปีขึ้นไปและรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ให้ใช้เลขบัตรประชาชนบิดามารดา , ประกันชีวิต , ประกันสุขภาพ , กองทุน , เงินบริจาค , เอกสารช้อปดีมีคืน เป็นต้น
หากไม่เคยเป็นสมาชิกมาก่อน คลิก สมัครสมาชิก แล้วกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน, หมายเลขโทรศัพท์มือถือ, และตั้งรหัสผ่าน เท่านี้ก็เป็นสมาชิกพร้อมที่จะทำการยื่นภาษีออนไลน์ได้แล้ว
ภาพแสดง: การสมัครสมาชิกเพื่อยื่นภาษีออนไลน์
ขั้นตอนที่ 1 : เข้าเว็บไซต์ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/ แล้วกรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและรหัสผ่าน เพื่อเข้าสู่ระบบ
ภาพแสดง: การเข้าสู่ระบบ E-Filing
กรมสรรพากรเพิ่มความปลอดภัยด้วยการใช้ระบบ OTP (One Time Password) เพื่อยืนยันตัวตน หากมีการเปลี่ยนแปลงเบอร์โทรศัพท์ให้เลือกระบุเบอร์โทรศัพท์ใหม่ จากนั้นกดขอรหัส OTP
ภาพแสดง: การขอรหัส OTP ก่อนเข้าสู่ระบบยื่นภาษีออนไลน์
ขั้นตอนที่ 2 : กรอกข้อมูลผู้มีเงินได้
คลิก ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90/91 ให้ตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวที่ระบบดึงมาแสดงผล หากมีเปลี่ยนแปลงให้คลิก แก้ไข จากนั้นให้เลือกสถานภาพของตัวเองในปี 2565 ซึ่งระบบ E-Filing เพิ่มสถานะ “กรณีที่ผู้มีเงินได้เสียชีวิตระหว่างปี 2565” ให้ญาติผู้เสียชีวิตสามารถยื่นฯ แทนได้
ภาพแสดง: เมนูรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ภาพแสดง: กรอกข้อมูลผู้มีเงินได้
หมายเหตุ หากมีการแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลของผู้มีเงินได้ และ คู่สมรสของผู้มีเงินได้ ระบบจะตรวจสอบกับฐานข้อมูลกระทรวงมหาดไทยก่อน
ขั้นตอนที่ 3 : กรอกเงินได้
กรมสรรพากรได้จำแนกแยกประเภทเงินได้ให้เข้าใจง่ายขึ้น แบ่งเป็น 5 ประเภท พร้อมมีคำอธิบายแนะนำในไอคอนสัญลักษณ์เครื่องหมายคำถาม (?) เพื่อให้รู้ความหมายในแต่ละประเภท ดังนี้
- รายได้จากเงินเดือน ถ้าเปลี่ยนงานมาหลายที่ให้รวมเงินเดือนทั้งหมด และกรอกเลขผู้จ่ายเงินได้ที่จ่ายเงินให้มากที่สุด
- รายได้จากฟรีแลนซ์ , รับจ้างทั่วไป , วิชาชีพอิสระ
- รายได้จากทรัพย์สิน , การทำธุรกิจ
- รายได้จากการลงทุน
(ใหม่) กรมสรรพากรปรับวิธีคิด ภาษีคริปโต แบบใหม่โดยการเก็บภาษีเงินได้สามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกับกำไรที่เกิดขึ้นในปีภาษีเดียวกันได้ และยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีก สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากคำแนะนำการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล (ฉบับ มกราคม2565) - รายได้จากมรดกหรือได้รับมา (พ่อแม่ให้ลูก 20 ล้านบาทขึ้นไป ต้องยื่นภาษี , การได้มาโดยเสน่หาส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทต้องยื่นภาษี)
ภาพแสดง: กรอกข้อมูลรายได้
ตัวย่าง มนุษย์เงินเดือนรายได้ทางเดียว มาตรา40(1)
ข้อมูลที่นำมากรอกสามารถดูได้จากหนังสือรับรองเงินเดือน (50 ทวิ) จากนายจ้าง ซึ่งหากมีการเปลี่ยนงานภายในปี ให้นำรายได้ / ภาษีหัก ณ ที่จ่าย มารวมกัน และใช้เลขผู้จ่ายเงินได้จากบริษัทที่จ่ายเงินได้ให้มากที่สุด
ภาพแสดง: กรอกข้อมูลเงินเดือนหรือเงินได้ตามสัญญาแจ้งแรงงาน
ขั้นตอนที่ 4 : กรอกค่าลดหย่อน
กรมสรรพากรได้จำแนกแยกประเภทค่าลดหย่อนออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
กลุ่มที่ 2 ค่าลดหย่อน/ยกเว้น ด้านการออมและการลงทุน
(แนะนำ) สามารถกรอกวงเงินตามจริงได้เลย แล้วระบบจะคำนวณค่าลดหย่อนให้อัตโนมัติตามกฎหมาย
(ใหม่) มีรายการเพิ่มใหม่คือ เงินลงทุนในหุ้น หรือการเป็นหุ้นส่วนเพื่อจัดตั้ง หรือเพิ่มทุนบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคม และได้จดแจ้งการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม
กลุ่มที่ 3 ค่าลดหย่อน/ยกเว้น จากสินทรัพย์และมาตรการนโยบายภาครัฐ
(แนะนำ) ค่าซื้อสินค้าหรือบริการ ช้อปดีมีคืน (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 – 15 ก.พ. 2565) สิทธิ์สูงสุดได้ไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งควรมีเอกสารเป็นหลักฐานเพื่ออัพโหลดยืนยันให้กรมสรรพากร
กลุ่มที่ 4 เงินบริจาค
(ใหม่) เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา/สถานพยาบาล/สภากาชาด/อื่นๆ ให้กรอกตัวเลขเงินที่บริจาคจริง ซึ่งในหน้าสรุประบบ E-Filing จะคิดลดหย่อนให้เป็นสองเท่าอัตโนมัติ
ภาพแสดง: กรอกข้อมูลค่าลดหย่อน
สำหรับกรณีที่มีการจ่ายภาษีเงินได้ครึ่งปีที่จ่ายล่วงหน้าไว้แล้ว (ภ.ง.ด.94) หรือ มีรายได้รับล่วงหน้า เช่น ค่าเช่า ค่าเซ้ง เป็นภาษีเงินได้ตามแบบ (ภ.ง.ด.93) สามารถกรอกข้อมูลที่ระบบ E-Filing ลงไปในหมวด ภาษีที่ได้ชำระไว้แล้ว ได้เลยซึ่งหากใครไม่เคยจ่ายมาก่อนจะไม่มีส่วนนี้ปรากฏ
ขั้นตอนที่ 5 : ตรวจสอบข้อมูล
ระบบจะสรุปเงินได้ทั้งหมด หัก ค่าใช้จ่าย และ หักค่าลดหย่อนรายการทั้งหมด เป็นเงินได้สุทธิ ที่จะนำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2565 โดยที่เงินได้สุทธิ 1 – 150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี!! เท่ากับว่า “ไม่เสียภาษี”
ภาพแสดง: ขั้นตอนให้ตรวจสอบข้อมูลยื่นภาษี
กรณี ชำระไว้เกินและต้องการขอคืน สามารถเลือกช่องทางการโอนเข้าพร้อมเพย์หรือช่องทางที่ทางกรมสรรพากรจัดเตรียมไว้ให้ แต่ทั้งนี้หากต้องการอุดหนุนภาษีให้แก่พรรคการเมือง ไม่เกิน 500 บาท ก็สามารถเลือกตามต้องการได้เลย
กรณี ชำระเพิ่ม แนะนำให้จดรายละเอียดข้อมูลยอดการชำระเงิน กำหนดวันโอน และเลขบัญชีของกรมสรรพากร เพื่อชำระหลังจากยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านระบบระบบ E-Filing
(กรณีต้องการยกเลิกการยื่นแบบฯ) คลิกที่เมนู “ตรวจสอบผลการยื่นแบบ” แล้วเลือกรายการที่ต้องการ จากนั้นกดปุ่มยกเลิก
ภาพแสดง: วิธีการยกเลิกยื่นภาษีออนไลน์
แอดมินขอทิ้งท้ายไว้ถึงแม้ว่ารายได้จะไม่ถึงเกณฑ์ในการเสียภาษี แต่ทุกคนที่มีรายได้ 1 บาทขึ้นไปควรยื่นภาษี เพราะตามอัตราภาษีเงินได้แบบก้าวหน้าระบุว่า 1 – 150,000 บาท ดังนั้นควรยื่นภาษีทุกปี เพื่อป้องกันการตรวจสอบย้อนหลัง ซึ่งคงไม่คุ้มกับโทษหรือค่าปรับที่โดน
อ้างอิงข้อมูล
https://efiling.rd.go.th/rd-cms
คำแนะนำการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล (ฉบับ มกราคม2565)
Youtube: TAXBugnoms